มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อยากทำประกันชีวิต อยากมีประกันสุขภาพติดตัว อยากวางแผนเก็บเงินเกษียณผ่านผลิตภัณฑ์ประกัน เพราะรู้สึกว่า เป็นเครื่องมือที่ดีที่ช่วยทำให้เก็บออมเงินได้อย่างสำเร็จเป็นรูปธรรม แถมยังลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย แต่สุดท้ายแม้จะอยากแค่ไหน ก็ตัดใจทำไม่ได้สักที เพราะด้วยมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบก เลยทำให้รู้สึกว่าถ้าต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นเงินก้อนนั้น อาจทำให้การเงินติดขัดได้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำประกันสร้างความคุ้มครองให้ได้มากขึ้น ขอให้ลองพิจารณารายจ่ายในชีวิตดูว่า ถ้าเราลดรายจ่าย 4 หมวดนี้ลงได้ ก็จะทำให้เก็บเงินทำประกันได้ง่ายมากขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว
1.ช้อปปิ้งออฟไลน์-ออนไลน์ ปกติเราจ่ายอยู่เท่าไรต่อเดือน
ในบัญชีรายจ่ายแต่ละเดือนนั้น ในหมวดของการช้อปปิ้ง มักจะมีสิ่งที่เป็นไปเพื่อความสุขส่วนตัวอยู่เยอะพอสมควรเลย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร เพราะเป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้วที่เราต้องจ่ายเพื่อความสุขในชีวิต แต่ทั้งนี้ลองคิดดูว่า ถ้าเราใช้จ่ายในส่วนนี้มากเกินไป ก็อาจกลายเป็นฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็นก็ได้ ลองค่อยๆ ทบทวนดูว่า ทุกวันนี้เราซื้อของเกินความจำเป็นหรือเปล่า มีส่วนไหนที่พอลดลงได้ไหม เพราะหากปกติเราซื้อของช้อปปิ้งเฉลี่ยเดือนละ 2,000 บาท ถ้าลดลงมาเหลือสักครึ่งหนึ่งคือ 1,000 บาท ก็เท่ากับว่าเรามีเงินเก็บเพิ่มอีกปีละ 12,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
2.ชา กาแฟ น้ำปั่น ดื่มทุกวันเป็นเงินเท่าไร
สำหรับเมืองร้อนอย่างบ้านเรานั้น การได้ดื่มชาไข่มุกเย็นๆ กาแฟอร่อยๆ หรือน้ำปั่นหวานสดชื่นนั้น ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้ชีวิตในแต่ละวันขับเคลื่อนไปได้อย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น แต่ทั้งนี้ บางทีเราก็ไม่เคยคิดเลยว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องดื่มนี้ของเรานั้น มันเป็นเงินจำนวนเท่าไรกันแน่ เพราะราคาเฉลี่ยต่อแก้วของเครื่องดื่มในปัจจุบัน ก็ถือว่าสูง โดยมีตั้งแต่ 40 ไปจนถึงหลักร้อยหรือหลายร้อยทีเดียว ลองคิดดูว่าถ้าเราดื่มเฉลี่ยวันละ 3 แก้ว แก้วละ 50 บาท ก็เท่ากับเป็นเงิน 150 บาท 1 เดือนเท่ากับเราจ่ายเงินไปทั้งสิ้น 4,500 บาท แล้วดื่มแบบนี้ทั้งปี จะเป็นเงิน 54,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเราตั้งใจลด ละ หรือว่าถ้าเลิกดื่มไปได้เลยนั้น เราจะมีเงินเก็บเหลือมากขึ้นอีกเยอะมาก ที่สามารถนำไปทำอย่างอื่น ทั้งประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือนำไปลงทุนต่อยอดอื่นๆ เพื่อให้เงินงอกเงยมากขึ้นก็ได้
3.สังสรรค์ปาร์ตี้บุฟเฟต์ เคยคำนวณไหมว่าเราเปย์ไปมากแค่ไหน
ตกเย็นเป็นต้องปิ้งย่าง สุดดสัปดาห์เป็นต้องปาร์ตี้ สิ้นเดือนเงินเดือนออกต้องจัดสักที โดยรวมแล้วแต่ละเดือนเรามีมื้อใหญ่ที่ต้องจ่ายค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว ยิ่งด้วยวิถีชีวิตชาวออฟฟิศ ที่ทานข้าวเป็นกลุ่มใหญ่ ทานข้าวเย็นด้วยกัน เลี้ยงวันเกิด วันคบรอบ และเนื่องในโอกาส โปรโมชั่นแบรนด์ร้านอร่อยทั้งหลาย หรือไหนจะมีเพื่อนหลายกลุ่มอีก ก็ยิ่งทำให้หากไม่วางแผนให้ดีให้รัดกุมล่ะก็ เรามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ที่มากพอสมควรเลยทีเดียว เอาแค่ปาร์ตี้บุฟเฟต์อย่างเดียว ไม่นับเที่ยวดื่ม ถ้าเฉลี่ยมื้อละ 300 บาท ทานอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เดือนหนึ่งก็ 8 ครั้ง จะเป็นเงินทั้งสิ้น 2,400 บาท ซึ่งตัวเลขนี้เป็นแค่ค่าเฉลี่ยเท่านั้น และบางที 2,400 บาทนี้ ก็อาจเป็นเพียงแค่มื้อหรือ 2 มื้อเท่านั้นเอง เพราะอย่าลืมว่าบุฟเฟต์ดังๆ นั้น ราคา 800-1200 บาท มีให้เราได้เลือกเยอะมาก นั่นเองที่หากเราลดจุดนี้ลงได้ ก็จะทำให้เราเหลือเงินเก็บมากขึ้นได้อีกอย่างน้อยเดือนละ 1,000 บาท หรือ 12,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว ถ้าให้เหลือทานบุฟเฟต์แค่ประมาณครั้งละ 300 บาท สัปดาห์ละครั้งต่อเดือน
4.บุหรี่ เหล้า หวย ตัวช่วยใช้เงินที่ทำให้ไม่เหลือเงินเก็บ
บุหรี่กับเหล้า ถือเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองที่นอกจากจะทำให้ไม่เหลือเงินเก็บแล้ว ยังทำให้สุขภาพเราพัง และเสี่ยงทำให้เสียเงินมากขึ้นได้ด้วย แต่กระนั้นก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ตัด 2 สิ่งทิ้งไปจากชีวิตไม่ได้ ซึ่งสำหรับบุหรี่ที่หากใครติดแล้วล่ะก็ 1 ซอง ราคาประมาณ 100 บาท ถ้าเดือนหนึ่งสูบ 10 ซอง ก็ตกเดือนละ 1,000 บาทเป็นอย่างน้อย ตรงนี้หากเลิกได้ ก็จะมีเงินเก็บเหลือมากขึ้นทันที ในขณะที่สุรานั้น อาจไม่ได้ดื่มทุกวัน แต่ถ้าไปสังสรรค์ครั้งหนึ่ง ก็ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 500 บาท หากเราไม่ดื่มได้ ก็จะประหยัดได้มากขึ้น และสำหรับคนที่ไม่สนเหล้าสนบุหรี่ แต่สนใจเรื่องการเสี่ยงโชค การเล่นหวย หรือสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ดี ถ้าถูกก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ถูกแล้วซื้อตลอดทั้งปีนั้น เราจะเสียเงินที่ควรเก็บได้ไปอีกเยอะเลยทีเดียว ซึ่งบางคนซื้องวดละเป็นพัน เดือนหนึ่งมี 2 งวดก็ตก 2 พัน ปีหนึ่งอย่างน้อยก็ 24,000 บาทที่เราจ่ายไปโดยที่หากนำเงินตรงนี้แบ่งไปใช้ทำอย่างอื่น ก็น่าจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
บัญชีรายรับ-รายจ่าย ถือเป็นสิ่งที่ควรต้องทำอย่างยิ่ง เพื่อให้มองเห็นว่าในเดือนๆ หนึ่งผ่านไป เราใช้เงิน หมดเงินไปกับอะไรบ้าง เพื่อให้เราเตือนใจ และปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เงินได้ทันก่อนที่เราจะใช้ทุกวันผ่านไปอย่างประมาทโดยไม่มีเงินเก็บออม ทั้งนี้ เราจะเห็นได้เลยว่า ใน 4 หมวดค่าใช้จ่ายข้างต้น เพียงแค่หมวดเดียวที่เราลดได้ ควบคุมได้ ก็ทำให้มีเงินเพิ่มมากขึ้นได้ปีละเป็นหมื่น หรือหลายหมื่น ซึ่งหากเราเป็นคนที่ใช้เงินไปกับทุกหมวดเลย นั่นก็หมายความว่าในแต่ละปีเราพลาดโอกาสเก็บเงิน “หลายหมื่น” ไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งหากเราเข้ามาควบคุมตรงนี้อย่างดีแล้ว ก็จะมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น และสามารถจัดสรรเงินนั้นไปทำประกัน ไปสร้างความคุ้มครอง ไปวางแผนเกษียณ ไปใช้ลงทุนต่อยอดเพื่ออนาคตที่ดี ที่มั่นคงของเราได้อีกมากมายเลยทีเดียว