การใช้สิทธิมาตรการนี้เป็นการวางแผนการเงินที่ดี ให้สิทธิลดภาษีอะไรมา ถ้าเราใช้สิทธิ์ใด้ถูกต้องและเต็มที่ ก็ทำให้เงินในบ้านก็เพิ่มขึ้นได้อีก เอาล่ะ..ใครอยากมีเงินเก็บเพิ่ม วันนี้จะมาสรุปเทคนิคง่าย ๆ 7 ข้อ มาแชร์ให้ทุกท่านไปใช้สิทธิ์กันเลย
เทคนิคข้อที่ 1 ต้องเสียภาษี ถึงใช้สิทธิ์ได้
เพราะมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ออกมาให้ช่วยลดหย่อนภาษีเพิ่มจากเงื่อนไขปกติ ดังนั้น เช็คตัวเองก่อนว่าเราจะได้ใช้สิทธิ์ลดภาษีไหม สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าเราต้องเสียภาษีไหม ก็ดูจากรายได้ต่อเดือน
ถ้าได้เกิน 25,833 บาทต่อเดือนแล้ว แสดงว่าคุณเริ่มจะต้องเสียภาษีในฐาน 5% ขึ้นไป แบบนี้คุณเป็นคนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ได้ และเพราะสิทธิ์นี้คุณจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อต้องจ่ายเงินซื้อสินค้า หรือบริการ
ดังนั้น ถ้าจะใช้สิทธิ์ได้อย่างคุ้มค่า คุณควรใช้สิทธิ์นี้ ก็ต่อเมื่อกำลังมีแผนจะซื้อของหรือใช้บริการอยู่แล้ว เพราะถ้าคุณไม่ได้จำเป็นต้องซื้อของจริง ๆ การได้เงินภาษีคืนจากมาตรการนี้ อาจจะไม่คุ้ม
เทคนิคข้อที่ 2 ต้องใช้สิทธิ์และออกใบกำกับภาษี (รูปแบบเต็ม) ภายในระยะเวลาที่กำหนด
การใช้สิทธิ์นี้ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็ได้นะ เราจะต้องมีการนำยอดจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือบริการที่ซื้อจากผู้ประกอบการ หรือร้านค้าที่มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat 7% และสามารถออกใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มให้เราได้
พิเศษ สำหรับสินค้า 3 อย่างนี้ ที่ผู้ประกอบการไม่ต้องคิด Vat ก็นำรายจ่ายนั้นมาใช้สิทธิ์ได้ ได้แก่ ซื้อหนังสือ ซื้อ E-book และซื้อสินค้า OTOP ซึ่งต้องออกใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มได้เช่นกัน
โดยเราจะใช้ใบกำกับภาษีรูปแบบเต็ม มาเป็นหลักฐานมากรอกยื่นภาษี โดยใบกำกับภาษีฯ จะต้องระบุวัน เดือน ปี ภายในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2566 ดังนั้น เราจะต้องซื้อสินค้า แล้วขอใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มจากทางร้านค้าทันทีในวันที่ซื้อ
โดยทางร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มได้ จะมีได้ 2 รูปแบบ คือ แบบกระดาษและแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า e-tax invoice & e-receipt (เป็นไฟล์ PDF ที่อาจส่งให้เราทางอีเมล์ หรือผ่าน Appของร้านค้า)
ทั้งใบกำกับภาษีรูปแบบเต็ม ทั้งแบบกระดาษและแบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะมีรายละเอียดเหมือนกัน สังเกตง่าย ๆ เวลาเราขอให้ทางร้านค้าออกใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มให้ เขาจะต้องขอบัตรประชาชนของเรา เพื่อไปกรอกข้อมูลของเราอยู่ในนั้นด้วย ทั้งชื่อ-นามสกุล , ที่อยู่ และ เลขที่บัตรประชาชนด้วย
เทคนิคข้อที่ 3 จ่ายแบบเสีย Vat อย่าลืมขอใบกำกับภาษีทุกครั้ง
อย่าลืมสังเกตทุกครั้งที่ซื้อสินค้า/บริการ ให้เรานำรายจ่ายนั้นมาใช้สิทธิ์ได้เต็มที่ เพราะเราสามารถนำยอดจ่ายในช่วงเวลาดังกล่าว มาใช้สิทธิ์ได้รวมสูงสุด 40,000 บาทเลย แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่ายอดซื้อไหนที่จะสามารถนำมาใช้สิทธิ์ได้
Step แรก สังเกตหน้าร้าน ส่วนใหญ่แล้วทางร้านจะบอกว่าเค้าสามารถใช้สิทธิ์ “ช้อปดีมีคืน” ได้แบบนี้จ่ายเงินเสร็จก็ขอใบกำกับภาษีได้เลย ส่วนถ้าร้านไหนไม่มีป้าย ก็สังเกตในใบเสร็จว่ายอดจ่ายมีรวมค่าภาษี Vat 7% หรือไม่
ถ้ามี ก็ลองถามทางร้านได้เลยว่า มีออกใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มให้ไหม เพราะจริง ๆ แล้วบางร้านค้า เขาก็ไม่ออกใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มให้ แบบนี้เราก็จะเอายอดจ่ายนั้นไปใช้สิทธิ์ไม่ได้นั่นเอง อันนี้เจอมากับตัวแล้ว
เทคนิคข้อที่ 4 ขอใบกำกับภาษี (รูปแบบเต็ม) แบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้ก่อน (สำคัญมาก)
เพราะเงื่อนไขของมาตรการนี้ ที่เราสามารถใช้สิทธิ์ได้จากยอดจ่ายค่าสินค้าหรือบริการได้รวมสูงสุด 40,000 บาทนั้น จะแบ่งการใช้สิทธิ์ออกเป็น 2 ส่วน ต่างกันที่ใบกำกับภาษีฯ ที่ขอจากทางร้านได้ นั่นก็คือ ส่วนแรกคือ ยอดจ่ายสูงสุด 30,000 บาทแรก จะใช้ได้เมื่อมีใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มเป็นแบบกระดาษ หรือแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
แต่ส่วนที่ 2 คือยอดจ่ายสูงสุดอีก 10,000 บาทหลัง จะใช้ได้เมื่อมีใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มเฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ดังนั้น แสดงว่าใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มแบบอิเล็กทรอนิกส์ (แบบ E-Tax Invoice & Receipt) จะสามารถใช้สิทธิ์ได้ทั้งยอด 40,000 บาทเลย
แต่ปัญหาคือ ไม่ใช่ทุกร้าน หรือทุกผู้ประกอบการจะออกใบกำกับภาษีฯ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (แบบ E-Tax Invoice & Receipt) ได้ (จะออกใบกำกับภาษีฯ แบบนี้ได้ผู้ประกอบการต้องขออนุมัติจากทางสรรพากรก่อน เราสามารถตรวจสอบผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีฯ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (แบบ E-Tax Invoice & Receipt) ได้จากเวปไซต์ของสรรพากร ในลิ้งค์นี้เลย https://etax.rd.go.th/etax_staticpage/app/…
จากรูป ขอย้ำว่าใบกำกับภาษีฯ แบบอิเล็กทรอนิกส์เดิมทีจะมี 2 แบบ สำหรับการใช้มาตรการนี้ จะต้องเป็นแบบ E-Tax Invoice & Receipt เท่านั้น พอเป็นแบบนี้ นั่นหมายความว่า เราต้องการใช้สิทธิ์การซื้อสินค้า/บริการให้ครบ 40,000 บาท เราควรขอใบกำกับภาษีฯ แบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้ก่อน ถ้าทางร้านสามารถออกให้เราได้ทั้ง 2 แบบ
เทคนิคข้อที่ 5 ไม่ใช่ว่าซื้ออะไร ก็ใช้สิทธิ์ได้นะ
สำหรับยอดซื้อสินค้า หรือบริการก็มีขอยกเว้นสินค้าหรือบริการบางประเภท ที่ไม่เข้าร่วมในมาตรการนี้ ยกตัวอย่างเช่น การซื้อสินค้าที่เป็น เหล้า, บุหรี่, ค่าซื้อรถ/จักรยานยนต์, นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ (หนังสือทั่วไปใช้สิทธิ์ได้), ค่าบริการนำเที่ยว(ทัวร์)/มัคคุเทศก์, ค่าที่พักโรงแรม, ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า, ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์/อินเตอร์เน็ต, ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย อย่างประกันรถ, ประกันบ้าน, ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็มีสินค้าหรือบริการที่ไม่เข้าเกณฑ์ ได้แก่ ทองคำแท่ง, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าทำศัลยกรรม, ผักผลไม้สด, เนื้อสัตว์สด, หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าซื้อของหรือบริการ ที่นอกเหนือจากนี้ เช่น ค่าเติมน้ำมัน, ค่าซ่อมรถ, ค่าสินค้าอื่น, ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์, ค่าอาหารในร้านอาหาร ในร้าน/ห้างที่คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) สามารถออกใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มได้ ก็สามารถใช้สิทธิ์เลย แอบกระซิบว่าล่าสุดที่บ้านเองก็ไปทานอาหารใน Food Court ก็ใช้สิทธิ์ได้ในบางห้าง ลองตรวจสอบดูได้เลย
เทคนิคข้อที่ 6 เข้าใจให้ถูกว่าได้เงินภาษีคืน ไม่ใช่ส่วนลดราคาสินค้า
หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าที่ใช้สิทธิ์ได้ถึง 40,000 บาท หมายถึงว่าถ้าเราใช้สิทธิ์ 40,000 บาท แล้วเราจะได้เงินคืนมาจากรัฐบาล 40,000 บาทเลยใช่ไหม ตอบเลยว่า “ไม่ใช่”
เพราะสิทธิประโยชน์ของมาตรการนี้คือ การซื้อของในช่วงเวลานี้ แล้วให้เก็บใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มไว้ เพื่อรอการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ ได้สูงสุด 40,000 บาท เพื่อได้นำไปคำนวณขอเงินภาษีคืน โดยจะได้กลับมาเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละคน โดยมีตารางสรุปให้ดังนี้ กรณีที่เราใช้สิทธิ์ครบ 40,000 บาท
อัตราคืนภาษี ช้อปดีมีคืน 2566
- ไม่เกิน 150,000 บาท ยกเว้นภาษี 0 บาท
- 150,001 – 300,000 บาท 5% 2,000 บาท
- 300,001 – 500,000 บาท 10% 4,000 บาท
- 500,001 – 750,000 บาท 15% 6,000 บาท
- 750,001 – 1,000,000 บาท 20% 8,000 บาท
- 1,000,001 – 2,000,000 บาท 25% 10,000 บาท
- 2,000,001 – 5,000,000 บาท 30% 12,000 บาท
- 5,000,001 บาทขึ้นไป 35% 14,000 บาท
จะเห็นว่า ยิ่งมีรายได้อยู่ในฐานภาษีที่สูง ก็ยิ่งได้เงินคืนเพิ่มขึ้นถึงหลักหมื่นเลย
เทคนิคข้อที่ 7 อย่าลืม…ยื่นภาษี
เรื่องสุดท้ายสำคัญสุด เพราะเรามักจะตกม้าตายตอนยื่นภาษี เรื่องการเก็บเอกสารนี่แหละ เก็บเอกสารข้ามปีกว่าจะใช้ก็ต้นปี 2567 ถ้าใครกลัวลืมว่าเก็บเอกสารไว้ตรงไหน ลองใช้เทคนิคนี้ได้ บ้านนี้ทำอยู่คือ หาแฟ้มสำหรับใส่เอกสารลดหย่อนภาษีปี 2566 แล้วพอมีเอกสารอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เอาใส่แฟ้มนี้ให้หมด เชื่อสิว่า เอกสารครบ ไม่ต้องมาปวดหัวหาทีหลังแน่นอน
พิเศษสุด บางห้างมีการจัดโปรโมชันเสริม เพื่อดึงลูกค้าอีกต่อ เพราะคนพร้อมจะใช้เงิน และกำลังมองหาว่าจะไปจับจ่ายซื้อสินค้าอะไรดี หน้าที่ของผู้ขาย ก็ต้องจูงใจลูกค้ากันเต็มที่ ฝากเอาไว้สุดท้ายคือ ซื้อแต่ของที่จำเป็น ถ้าเป็นของที่อยากได้ ก็ต้องมั่นใจว่าคุ้มค่า….ที่จะจ่าย