มกราคม 16, 2025

3 เรื่องการเงินควรคิด ที่วิกฤตโควิดสอนเราให้เรียนรู้

เรียกว่าเริ่มได้รับผลกระทบกันหนักขึ้นเรื่อยๆ แล้วสำหรับวิกฤตการณ์โควิด 19 ที่พาเอาหลายบริษัท โรงงาน โรงแรม และกิจการร้านอาหารปิดตัวลงไปทีละราย และก็ไม่มีใครรู้แน่นอนเลยด้วยว่า วิกฤตนี้จะอยู่กับคนไทยเราไปอีกนานแค่ไหน แต่ยิ่งนานวันเท่าไร สภาพการเงินของทุกคนก็จะยิ่งมีปัญหามากขึ้น สภาพคล่องหดหาย รายได้ไม่เพียงพอ มีแต่รายจ่าย จนสุดท้ายแม้ไม่ถูกโควิดทำร้าย ก็ต้องเจอกับปัญหาการเงินอันเลวร้ายเล่นงานอยู่ดี ซึ่งต่อจากนี้ไป คือ 4 เรื่องการเงินใหญ่ๆ ที่โควิดสะกิดใจให้ได้เราหวนกลับมาคิดกลับมาใส่ใจ เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมกว่านี้ แม้จะผ่านวิกฤตนี้ไปได้แล้วก็ตาม

1.รายได้มั่นคงจากงานประจำ…อาจไม่มีอยู่จริง

ใครจะคิดว่าทำงานประจำมีเงินเดือนดี ได้รับเงินทุกเดือน ได้รับโบนัสทุกปีอยู่ในบริษัทที่แข็งแกร่งและดูมีอนาคต อยู่ดีๆ จะต้องถูกปลดให้ออกจากงาน ถูกให้ทำงานแบบ Leave With Out Pay หรือถูกลดทอนตำแหน่ง เงินเดือน จนได้รับผลกระทบในที่สุด ความจริงข้อนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า ในบางครั้งกับการที่เรา “คิดว่าชีวิตมั่นคงกับงานประจำ” ก็ทำให้เราตกอยู่ในสภาวะลำบากได้เช่นกัน เพราะเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา รายได้ที่เรา “คุ้นเคย” นั้นหายไป แต่รายจ่ายที่เรา “คุ้นเคย” นั้นยังคงอยู่

ทำให้เกิดการเป็นอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง และส่งผลกระทบในที่สุด อีกทั้งครั้นจะมาเริ่มต้นหารายได้ทางอื่น ก็ดูติดขัดไปหมดเลย เพราะไม่เคยลองทำดูเลย จนกลายเป็นเหมือนถูกบีบจากทุกทิศทาง ทำให้หากไม่มีสติมากพอล่ะก็ ก็อาจจะประคับประคองชีวิตต่อไปได้อย่างยากลำบาก ดังนั้น อย่ามั่นใจในงานประจำมากเกินไป อย่าเชื่อมั่นในรายได้ทางเดียวจนลืมไปว่า “วิกฤตเกิดขึ้นได้เสมอ” เราจึงต้องเตรียมพร้อมให้ดี หาทางหนีทีไล่เอาไว้บ้าง กับการสร้างรายได้ทางอื่นที่จะช่วยให้เรามีรายได้อยู่ได้ ในภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

2.เงินเก็บ เงินสำรองฉุกเฉิน ต้องมีให้พร้อมเสมอ

วิกฤตโควิดนี้คือสถานการณ์ที่ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า “เงินเก็บสำรอง” นั้น สำคัญมากแค่ไหน เพราะเมื่อตกงาน หรือต้องหยุดอยู่บ้านแบบ Leave With Out Pay นั้น รายได้ไม่มี แต่รายจ่ายยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพราะเราทุกคนต้องกินให้พร้อม 3 มื้อ และยิ่งสำหรับคนที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนมือถือ เงินสำรองที่ต้องใช้ก็ยิ่งต้องมีมากขึ้น เรามักใช้ชีวิตกันแบบ “ให้เงินเดือนเป็นทุกอย่างในชีวิต”

โดยมีความคิดว่า “ผ่อนทุกอย่างได้เพราะเงินเดือนพอ” แต่เราไม่ค่อยคิดกันเท่าไรว่า วันที่เงินเดือนไม่พอขึ้นมา ต้องตกงานขึ้นมา จะต้องทำอย่างไร จุดนี้เองที่ทำให้ “เงินเก็บ เงินสำรองฉุกเฉิน” นั้นกลายเป็นสิ่งสำคัญ ที่ควรมีไว้ อย่างน้อยก็ 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยต้องวางแผนล่วงหน้าไว้เลยว่า เดือนๆ หนึ่งเราใช้เงินเท่าไร แล้วก็เก็บสำรองฉุกเฉินไว้ให้พอใช้สำหรับระยะยาวในสถานการณ์ที่เราไม่มีเงินเดือน เพื่อให้ชีวิตยังไปต่อได้ เพื่อให้ชีวิตไม่ต้องก้าวไปอยู่บนเส้นทางของ “การเป็นหนี้” ที่ส่วนใหญ่เมื่อเผลอเข้าไปแล้ว มักกลับออกมาไม่ได้ง่ายนัก

3.ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ สำคัญเสมอ

ในวิกฤตโควิดแบบนี้ ประกันโควิดถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก และถูกซื้อไปกันอย่างถล่มทลาย เพราะทุกคนกลัวว่าถ้าป่วยด้วยโควิดขึ้นมาจะได้มีเงินค่ารักษา แต่ทั้งนี้ หลายๆ คนก็ลืมไปว่า แล้วถ้าป่วยเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิดล่ะ จะทำยังไง เพราะงานก็ไม่มีทำ รายได้ก็น้อยลง แล้วถ้าป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล แน่นอนว่าการเงินต้องมีปัญหาแน่ๆ ซึ่งก็จะทำให้ชีวิตย่ำแย่หนักเป็น 2 เท่า หรือหากเราที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เกิดป่วยตายขึ้นมาจริงๆ ภาระทั้งหมดที่เราเคยแบกไว้ ก็จะตกไปอยู่ที่ลูกเมีย ซึ่งอาจทำให้ตั้งหลักไม่ทัน จนกลายเป็นเหมือนถูกฆ่าทั้งเป็นตามไปด้วย

ดังนั้น ยิ่งในช่วงวิกฤตนั้น ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต จึงยิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจมากยิ่งขึ้น และไม่ถูกซ้ำเติมจากความเจ็บป่วยความตายโดยไม่ทันตั้งตัว แต่อย่างไรก็ดี ถ้าจะให้ดีและเหมาะสมที่สุดล่ะก็ การวางแผนประกันชีวิต ประกันสุขภาพนั้น ควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ วางแผนอย่างรอบคอบ ไม่ใช่พอถึงวิกฤตกลัวขึ้นมาแล้วค่อยมาปุบปับคิดทำ เพราะนอกจากจะต้องดึงเงินก้อนมาใช้ทำให้ไม่มีสภาพคล่องแล้ว ยังอาจซื้อไม่ได้ ซื้อแพงกว่าเดิมได้ด้วย เพราะสุขภาพไม่พร้อมนั่นเอง

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตขึ้นมา “เงิน” คือปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ที่ทำให้ชีวิตล้มลงได้อย่างเจ็บหนักที่สุด เพราะเมื่อเงินไม่พอใช้ เราก็กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ขับเคลื่อนชีวิตไม่ได้ จนสุดท้าย ร่างกายและจิตใจก็รับไม่ไหว แม้เงินจะไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต แต่ชีวิตก็ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นด้วยใช้ “เงิน” เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก โดยอาจไม่ได้ต้องใช้มากมายอะไร แต่ต้องมีใช้อย่างเพียงพอให้ชีวิตเดินต่อไปได้ ซึ่งการจะมีเงินใช้อย่างเพียงพอได้ในทุกจังหวะชีวิต ในทุกสถานการณ์แม้เจอวิกฤตนั้น การวางแผนการเงิน การรู้จักเก็บออม สำรองเงินฉุกเฉิน รู้จักมีการวางหลักประกันคุ้มครองความเสี่ยง และมีช่องทางรายได้มากกว่าหนึ่งทาง ถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นแนวทางที่ควรศึกษาไว้ เพื่อสร้างรากฐานการเงินที่แข็งแกร่งให้กับชีวิตตัวเราเองและครอบครัวคนที่…เรารัก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น