อยากวางแผนการเงินฟังทางนี้

4 เหตุผล ที่ทำให้คนเราเก็บเงินไม่อยู่

“ทำงานมาตั้งหลายปี จนป่านนี้แล้วยังไม่มีเงินเก็บในบัญชีให้ชื่นใจสักที” เชื่อว่าหลายคนอาจกำลังประสบกับปัญหาแบบนี้อยู่ ซึ่งหากไม่รีบแก้ไข ไม่รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หาวิธีการเก็บออมที่ดี ที่ได้ผลล่ะก็ นานวันไปชีวิตเราก็จะยิ่งลำบากมากขึ้น เพราะเมื่อแก่ตัวลงไป โอกาสและกำลังในการใช้หาเงินนั้น ก็จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ สำหรับใครก็ตามที่เก็บเงินไม่เคยอยู่เลย 4 เหตุผลต่อจากนี้ไป เป็นพฤติกรรมที่เราควรแก้ไข ให้ได้มากที่สุด ถ้าอยากให้เงินในบัญชีเพิ่มพูนขึ้นได้จริงๆ สักที

1.ใช้ก่อน เก็บทีหลัง

ถือเป็นพฤติกรรมที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เราเก็บเงินไม่อยู่ ซึ่งการที่เราเลือกใช้ก่อนแล้วเก็บทีหลังนั้น แสดงให้เห็นว่าเรา “ไม่ได้ตั้งใจที่จะเก็บเงินจริงๆ” เราเพียงแค่คิดอยากเก็บ แต่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการเก็บเงินจริงๆ จึงทำให้เลือกที่จะใช้เงินไปกับสิ่งที่อยากได้ก่อน จนท้ายที่สุดแล้ว ก็มักไม่ค่อยเหลือเก็บ และเมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะพบว่าตัวเรานั้นเก็บเงินไม่ได้เลย ดังนั้น ถ้าอยากให้เก็บเงินอยู่ เห็นตัวเลขในบัญชีมีเงินเพิ่มให้ได้จริงๆ ล่ะก็ เรต้อง “เก็บก่อนใช้” เสมอ คือ หักเก็บเลยอย่างมีวินัย กำหนดให้ชัดเจนเลยว่าเดือนละเท่าไร แล้วค่อยใช้เงินที่เหลือจากการหักเก็บแล้ว โดยการทำแบบนี้ ถ้าเราหักเก็บเดือนละ 1,000 บาท อย่างน้อยทุกๆ ปี เราก็จะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นปีละ 12,000 บาท ซึ่ง 10 ปีผ่านไปเราก็จะมีเงินแสนให้ได้เห็นอย่างแน่นอน

2.ไม่มีเป้าหมาย ในการเก็บออม

เวลาที่เราอยากได้สิ่งของอะไรสักอย่าง เช่น บ้าน รถ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ หรือตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวประเทศในฝัน ฯลฯ เราจะมุ่งมั่นมากๆ ในการเก็บหอมรอมริบ ใส่กระปุก ประหยัด ยอมอดมื้อกินมื้อ ยอมสละความฟุ่มเฟือยบางอย่าง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ และทุกครั้ง เราก็จะทำสำเร็จเสมอ ความจริงข้อนี้เองคือบทพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของการตั้งเป้าหมายในการเก็บออม ดังนั้น หากเราต้องการเก็บเงินก้อนใหญ่จริงๆ ที่เอาไว้ใช้สำหรับอนาคต เราก็ต้องกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า “เก็บไปเพื่ออะไร?” เพื่อชีวิตวัยเกษียณ เพื่อทุนการศึกษาบุตร เพื่อเงินสำรองฉุกเฉิน ฯลฯ และถ้าจะทำให้เป้าหมายนั้นเป็นจริงได้ง่ายยิ่งขึ้น เราก็ควรต้องกำหนดด้วยว่า “จะใช้เวลากี่ปีเพื่อให้ได้เงินตามที่กำหนด” เพราะพอกำหนดเวลาในการเก็บออมปุ๊บ เราก็จะรู้ทันทีว่าต้องเข้มงวดแค่ไหน ต้องเก็บเดือนละเท่าไร จึงจะประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ อาทิ อยากมีเงินล้านให้ได้ใน 4 ปี เราก็ต้องเก็บปีละ 250,000 บาท ดังนั้นเฉลี่ยแล้วก็ต้องเก็บให้ได้เดือนละประมาณ 20,000 บาทนั่นเอง และเมื่อเราเห็นตัวเลขแบบนี้ เราก็จะพอเห็นแนวทางในการวางแผนเก็บออม หรือหารายได้เพิ่มได้ทันทีว่า ต้องทำอย่างไรให้เก็บเงินได้เดือนละ 20,000 บาท

3.เก็บเงินกองเดียว ไม่มีเงินเก็บสำรองฉุกเฉิน

ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญเลยที่ทำให้เราไม่มีเงินเก็บได้อย่างที่อยากได้สักที เพราะจริงอยู่ที่แม้เราจะหักเก็บก่อนใช้ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเก็บออม มีตัวเลขที่ชัดเจนมากว่าจะต้องเก็บเดือนละเท่าไร เป็นระยะเวลากี่ปี แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ไม่ได้แยกเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้เลย ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา “เงินเก็บตามเป้าหมายเดิมนั้น” ก็จะถูกดึงหยิบเอาออกไปใช้จนทำให้เก็บเงินไม่อยู่ในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์ฉุกเฉิน ก็ได้แก่ การเจ็บป่วยของตัวเราเอง ของคนที่รัก สมาชิกในครอบครัว การตกงานกะทันหัน การประสบอุบัติเหตุ รถเสีย บ้านพัง น้ำท่วม เป็นต้น ดังนั้นเอง ถ้าเราจะอยากเก็บเงินให้อยู่จริงๆ นอกจากเงินเก็บตามเป้าหมายที่ฝันแล้ว ก็ยังต้องเผื่อเงินไว้อีกบัญชีหนึ่ง สำหรับไว้ใช้ยามจำเป็นฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองเงินเก็บตามเป้าหมายของเราให้มั่นคงอยู่ได้ และไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

4.หักห้ามใจตัวเองไม่ได้ กับการใช้จ่ายเพื่อความสุขปัจจุบัน

ของมันต้องมี อันนี้ก็น่าโดน อันนั้นก็ต้องได้ ถ้าไม่ซื้อตอนลดแล้วเดี๋ยวไม่คุ้ม ฯลฯ พฤติกรรมในการทำให้ตัวเองมีความสุขในชีวิตด้วยการจับจ่ายซื้อของนั้น แม้จะไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องคิดวางแผนในการใช้เงินให้รอบคอบที่สุด เพราะหากเรา “ตามใจอยาก” จนเกินไป ก็จะทำให้ไม่มีทางเลยที่เราจะเก็บเงินอยู่ จะออมเงินได้บรรลุเป้าหมายตามที่ฝันเอาไว้ ทั้งนี้ แม้ความสุขในปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่เราควรสร้างให้กับตัวเอง แต่เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ชีวิตเราไม่ได้มีแค่วันนี้ แต่ยังมีวันหน้าที่ก็ต้องการความสุขไม่แพ้กันด้วย ดังนั้น วางแผนสำหรับการจับจ่ายเพื่อความสุข ความสะดวกสบายในอนาคตด้วย ว่าเราจะต้องเก็บเงินเท่าไร ให้มีพอใช้ในวันหน้าได้อย่างมีความสุขด้วย

แม้เงินจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต แต่เราคงไม่อาจมีชีวิตที่มีความสุข ที่ราบรื่นได้เลย หากไม่มีเงินใช้อย่างเพียงพอ เพราะทุกจังหวะชีวิตที่เราก้าวเดินไป ตั้งแต่ เกิด เรียน วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ทำงาน แต่งงาน มีครอบครัว วัยเกษียณ จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิตนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินในการนำทางทั้งสิ้น แม้กระทั่งวันที่เราตายไปแล้ว ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายก้อนสุดท้ายเอาไว้สำหรับการทำพิธีเลย ดังนั้น การวางแผนเก็บเงินให้อยู่ ให้มีเงินใช้อย่างเพียงพอในทุกจังหวะชีวิตนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรทำตั้งแต่วันนี้ เพราะบางทีเพียงแค่เหตุการณ์เดียวที่เราต้องใช้เงิน แต่ไม่มีเงินพอใช้นั้น ก็สามารถทำลายชีวิตของเราให้หมดความสุขได้ไปตลอดชีวิต

แท็กที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้คนกำลังให้ความสนใจ

keptsatang ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น
อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)